วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

บทความ
เรื่อง เทคนิคการสอนคอมพิวเตอร์นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ได้กลายมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำงาน ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน บางคนถึงกับต้องพกติดตัวไปด้วยทุกที่ นึกอยากจะนั่งทำงานที่ไหนก็สามารถทำได้ โรงเรียนบางแห่งจึงได้จัดหลักสูตรให้นักเรียนได้เรียนคอมพิวเตอร์กันตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลเป็นลักษณะการเตรียมความพร้อมเพื่อวางพื้นฐานในการเรียนระดับชั้นที่สูงต่อไป เพราะระดับนี้คงจะสอนอะไรได้ไม่มากนัก อาจจะสอนให้นักเรียนได้รู้จักการใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐาน รู้จักเปิด-ปิด คอมพิวเตอร์ และ รู้จักใช้เมาส์ในการเลือกคำสั่งหรือโปรแกรมง่าย ๆ เช่น เกม หรือโปรแกรมวาดรูป เป็นต้น
จากประสบการณ์ในการสอนคอมพิวเตอร์ คิดว่าระดับชั้นที่เหมาะสมที่จะเริ่มเรียนคอมพิวเตอร์ได้ดี คือระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพราะนักเรียนจะมีความสามารถในการรับรู้ได้ดีกว่าในระดับอนุบาล นิ้วมือก็มีความแข็งแรงพอที่จะทำงานกับเมาส์ได้ เพราะเคยเจอนักเรียนบางคนที่มีนิ้วมือสั้นและกล้ามเนื้อนิ้วมือไม่แข็งแรง จะไม่สามารถดับเบิ้ลคลิกเมาส์ได้ จับเมาส์นาน ๆ ก็จะทำให้ปวดเมื่อยมือ เนื่องจากต้องเกร็งอยู่ตลอดเวลา
ในการสอนคอมพิวเตอร์นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรือในเด็กเล็ก สิ่งที่ควรคำนึงถึงได้แก่ การเลือกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และ ปริมาณของเนื้อหาที่จะนำมาสอนนักเรียน ไม่ควรสอนความรู้เชิงวิชาการให้มากจนเกินไป เพราะนักเรียนยังมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้อีกนาน การสอนจึงควรให้นักเรียนค่อย ๆ ซึมซับไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นการสร้างเจตคติที่ดีในการเรียนคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียน ทำให้เขามองว่าการเรียนคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่ไม่ยาก ทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้มีความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์ได้ และควรสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในการใช้คอมพิวเตอร์ให้เกิดกับนักเรียนด้วยทุกครั้ง ให้เขาได้เห็นถึงประโยชน์ที่แท้จริงของคอมพิวเตอร์ ว่าไม่ได้เอาไว้สำหรับเล่นเกมหรือ สร้างความบันเทิงเท่านั้น เนื่องจากนักเรียนในระดับนี้จะเริ่มรู้จักเล่นเกมโดยเฉพาะเกมคอมพิวเตอร์ ถ้าไม่มีใครคอยให้คำแนะนำอาจจะทำให้ติด และเกิดผลเสียตามมาอีกมากมาย ครูผู้สอนจึงมีหน้าที่ต้องปลูกจิตสำนึกให้นักเรียนได้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญที่แท้จริงของคอมพิวเตอร์ โดยสอนให้เขาเห็นความสำคัญของคอมพิวเตอร์ในลักษณะที่เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้คนทำงานได้รวดเร็วขึ้น เป็นการประหยัดเวลาและ ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน และมีราคาแพง ดังนั้นจึงควรใช้คอมพิวเตอร์ให้คุ้มค่า และใช้อย่างถูกวิธี
โปรแกรมที่เหมาะสำหรับนำมาสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้แก่โปรแกรมประเภทกราฟิก เช่น โปรแกรมเพ้นท์ เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เหมาะสำหรับนำมาให้นักเรียนฝึกทักษะการใช้เมาส์ โปรแกรมประเภทประมวลคำ เช่น โปรแกรมไมโครซอฟต์เวิร์ด ใช้สำหรับให้นักเรียนฝึกพิมพ์ข้อความ และฝึกการใช้แป้นพิมพ์ไปในตัว หรืออาจจะหาเกมที่เล่นง่าย ๆ เช่นเกมส์ระบายสี เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจให้กับนักเรียนในการเรียนคอมพิวเตอร์ เพราะในระยะแรก ๆ ของการเรียนคอมพิวเตอร์ การให้ทำงานที่เป็นวิชาการเกินไปอาจทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย และ เกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อการเรียนคอมพิวเตอร์ เพราะมองว่าการเรียนคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่ยากและอาจเกิดความท้อแท้ในการเรียนได้ สำหรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พื้นฐานที่เป็นอุปกรณ์หลัก ๆ ที่ควรสอนให้นักเรียนได้รู้จักและใช้งานให้เป็น ได้แก่ เมาส์ และ แป้นพิมพ์ ตลอดจนการรู้จักเปิด – ปิด คอมพิวเตอร์ให้ถูกต้อง เพื่อให้เขาสามารถนำความรู้ไปใช้งานต่อที่อื่นได้
ในการสอนคอมพิวเตอร์นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรือในชั้นเด็กเล็ก ๆ ครูผู้สอนควรเลือกใช้เทคนิคและวิธีสอนที่เน้นให้นักเรียนเกิดความสนุกและ ต้องยั่วยุให้นักเรียนอยากจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ในระดับนี้นักเรียนยังมีความสามารถในการคิดสร้างงานได้น้อย ดังนั้นในการทำงานครูควรให้นักเรียนได้ฝึกทำตามแบบก่อน โดยเริ่มจากงานง่าย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มความยากขึ้น เช่นในการวาดรูปด้วยโปรแกรมเพนท์ อาจจะสรุปเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ในสอนนักเรียนได้ดังนี้
ขั้นที่ 1 การเริ่มต้นใช้โปรแกรม ครูผู้สอนอาจจะเริ่มจากการให้นักเรียนรู้จักเปิดโปรแกรมด้วยตัวเองตามขั้นตอน โดยเข้าไปที่ Start > All Program > Accessories > Paint ไม่ควรสร้าง Short Cut ไว้ให้นักเรียนที่ Desk Top เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการเปิดโปรแกรมที่ถูกต้อง เวลาไปใช้งานที่อื่นจะได้เปิดถูก และเป็นการฝึกให้นักเรียนรู้จักการบังคับเมาส์ไปในตัว ในการสอนการใช้คำสั่งของโปรแกรมให้สอนทีละคำสั่งก่อน เช่น คำสั่งการวาดรูปวงกลม เนื่องจากเด็กบางคนยังบังคับเมาส์ยังไม่ค่อยได้ ในระยะแรก ๆ จึงอาจจะยังวาดรูปวงกลมเป็นวงรีบ้าง ก็ปล่อยเขาไป เพราะจุดประสงค์คือฝึกให้นักเรียนได้รู้จักการบังคับเมาส์ พอนักเรียนเริ่มวาดวงกลมได้ ก็สอนให้ให้ใส่สีในวงกลม ขั้นตอนนี้เด็กจะชอบมาก เพราะธรรมชาติของเด็กคือชอบอะไรที่เป็นสีสันต์
ขั้นที่ 2 ขั้นตอนการประยุกต์ใช้เครื่องมือ เมื่อนักเรียนเริ่มวาดวงกลมได้คล่องแล้วต่อไปก็เริ่มสอนการนำรูปวงกลมมาสร้างเป็นรูปภาพแบบง่าย ๆ เช่นก้อนเมฆ หรือดอกไม้ ดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1


ในขั้นนี้อาจจะดูเหมือนง่ายแต่สำหรับนักเรียนที่เริ่มใช้งานคอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ เด็กจะรู้สึกยากพอสมควรเหมือนกัน เพราะกว่าจะทำให้วงกลมมาซ้อนกันจนได้รูปที่สวยงามนั้น ต้องรู้เทคนิคในการวางจุดเริ่มต้นก่อนการลากเมาส์ ในครั้งแรกครูอาจจะสาธิตให้นักเรียนดูก่อนแล้วให้นักเรียนวาดตาม โดยไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกกระบวนการคิดแก้ปัญหา ต่อไปก็ค่อย ๆ บอกเทคนิคให้นักเรียนทราบว่าการที่วาดวงกลมให้มันกลมที่ไม่ต้องบังคับเมาส์นั้นทำอย่างไร (กดปุ่ม Shift ค้างไว้แล้วลากเมาส์) และต้องกำหนดจุดเริ่มต้นอย่างไร วงกลมจึงจะซ้อนกันพอดี เป็นต้น สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถมากกว่าคืนอื่น ครูผู้สอนอาจจะมอบหมายให้เขาลองคิดแบบรูปที่จะนำมาวาดด้วยตัวเอง แต่ถ้ายังทำไม่ได้ ก็หาแบบอื่น ๆ มาให้นักเรียนลองฝึกวาด เพราะถ้าให้เขาวาดแบบเดิม ๆ นักเรียนอาจจะเกิดความเบื่อหน่ายได้ เช่นเด็กผู้ชายอาจจะไม่ชอบวาดรูปดอกไม้ ก็อาจจะให้เขาวาดรูปอื่น เช่น รูปสัตว์ ดั่งภาพที่ 2




ภาพที่ 2 ขั้นที่ 3 ขั้นพัฒนา เป็นการสอนให้นักเรียนได้รู้จักเครื่องมือที่หลากหลายขึ้น และให้เลือกใช้เครื่องมือที่หลากหลายมาใช้ในการวาดรูป ซึ่งในการวาดรูปชนิดเดียวกัน นักเรียนอาจจะเลือกใช้เครื่องมือที่ไม่เหมือนกันก็ได้แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน อย่างเช่นการวาดดอกไม้ ในขั้นแรกครูผู้สอนอาจจะให้นักเรียนใส่ส่วนประกอบเพิ่มเติมเช่น ก้านและใบ โดยใช้วงกลม และใช้เส้นตรง (Line) ทำก้าน เมื่อนักเรียนเริ่มมีความชำนาญมากขึ้นก็สอนการใช้เครื่องมือที่ยากขึ้น เช่น การทำก้านและใบไม้จากเส้นโค้ง ( Curve) เป็นต้น ส่วนกลีบดอกจาก 3กลีบก็อาจจะเพิ่มเป็น 3 กลีบเป็นต้น ดั่ง ภาพตัวอย่างที่ 3


ภาพที่ 3






ในการสอนให้นักเรียนทำงานทุกครั้งครูควรมีการวัดผลและประเมินผล ทุกขั้นตอนซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ด้านดังนี้
ด้านที่ 1 ด้านความรู้ความจำ ( K) ในขั้นนี้เป็นการดูความสามารถในการใช้โปแกรม หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่ครูได้สอนนักเรียนไป
ด้านที่ 2 ด้านทักษะและกระบวนการ (P) เป็นการประเมินทักษะในการทำงานของนักเรียน เช่นความคล่องแคล่วในการใช้เครื่องมือ รวมทั้งความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนด้วย
ด้านที่ 3 ด้านจิตพิสัย (A) เป็นการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนในขณะที่เรียน เช่น ความมีวินัย ความมุ่งมั่นในการทำงาน ความใฝ่รู้ ในขณะที่ครูสอนนักเรียนต้องไม่เปิดเกมขึ้นมาเล่นหรือ ทำอย่างอื่นโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตจากครูผู้สอนก่อนเป็นต้น รวมทั้งจิตสาธารณะ เช่น ความมีน้ำใจต่อเพื่อน การไม่ทำลายของที่เป็นส่วนรวม ใช้คอมพิวเตอร์ด้วยความระมัดระวัง และใช้อย่างถูกต้อง เป็นต้น
ในการสอนคอมพิวเตอร์ในเด็กเล็ก ๆ ครูผู้สอนต้องมีความละเอียดอ่อนและต้องใช้ความพยายามมากกว่าเด็กโต เนื่องจากเด็กยังขาดประสบการณ์ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ และเขาจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อครูเป็นคนสอน นักเรียนบางคนอาจจะมีโอกาสได้ใช้คอมพิวเตอร์แค่ที่โรงเรียนอาทิตย์ละครั้ง ดังนั้นโอกาสจะกลับไปพัฒนาต่อจึงไม่มี ทุกครั้งที่เริ่มต้นสอนครูจึงควรทบทวนความรู้เดิมและให้นักเรียนได้ทดลองปฏิบัติก่อนทุกครั้งก่อนจะขึ้นเรื่องใหม่ เพราะบางคนอาจจะลืมสิ่งที่ได้เรียนไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหมดแล้ว การสอนคอมพิวเตอร์ในเด็กเล็กๆ โดยเฉพาะกับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จึงต้องสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป
ให้นักเรียนค่อยๆ เรียนรู้ทีละเล็กทีละน้อย สอนเนื้อหาน้อย ๆ แต่เน้นทักษะและกระบวนการให้มาก

1 ความคิดเห็น: